.

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

[ Trick ] วิธีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน มือสอง (ดูยังไงไม่ให้เจ็บตัว)


     กราบบสวัสดีเหล่าบรรดาแม่ยกทั้งหลาย ห่างหายไปนานซะเหลือเกินสำหรับ Trick ไม่รู้จะเอาอะไรมาเขียนดี ฮ่าๆ หยิบยกประเด็นการซื้อสินค้ามือสองมาเป็นแนวทางดีกว่าเน๊อะ เพราะเราเจ็บมาเยอะแล้วเหมือนกัน ไม่อยากให้เจอแบบเราอีก คนสมัยนี้ไว้ใจได้ที่ไหน ถ้าพร้อมแล้ว ลุยยย!!


1.ดูตำหนิรอบตัวเครื่อง 



    จุดอับที่อาจจะเกิดรอยแผล เช่น มุมขอบเครื่อง กล้องหลังที่นูนออกมา หน้าจอที่อาจจะเป็นรอยขูดหนักๆ เหล่านี้สามารถบอกสภาพของมือถือได้ว่าโดนอะไรมาบ้าง ถ้ามีรอยหนักๆเป็นไปได้ว่าเจ้าของเครื่องเก่าอาจจะใช้งานแบบไม่ดูแลรักษา พาลจะทำให้อายุการใช้งานหลังจากซื้อมาแล้วสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น (ก่อนซื้อขอรูปเพิ่มจากเจ้าของเครื่องเก่ามาดูให้ทั่วจนกว่าจะพอใจ มุมไหนอะไรยังไงบอกเค้าไปนะ ไม่ต้องเกรงใจตังเราซื้อ ได้ของไม่ดีเดี๋ยวจะเสียใจ)

2.อุปกรณ์ที่ให้มา



     สำหรับบางเครื่องที่ราคาแพงมากๆ (เกิน 5,000 บาท) อุปกรณ์ของแถมเป็นอีกอย่างที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่แค่ไม่ต้องซื้อเพิ่ม แต่บางครั้งเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้อย่างดีว่าเครื่องเป็นของคนขายจริงๆ ไม่ใช่ไปขโมยเค้ามา (จะสังเกตุได้ว่าเครื่องที่ขายพร้อมกล่องที่อีมี่ตรงกล่องจะแพงกว่าเครื่องเปล่า) พวกสายชาร์จ หัวชาร์จ ฟิล์ม เคส พวกนี้เป็นของรองๆลงมา หาซื้อได้ไม่กี่บาท (ยกเว้น iPhone ไม่แถมมาเคืองเพราะแพง)

3.เช็คอายุเครื่อง 


     เครื่องยิ่งนานยิ่งมีความเสี่ยงสูง แบตเตอรรี่เสื่อมเอย ซีลกันน้ำเสื่อมเอย จอเหลืองเอย บอร์ดไหม้เอย เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ยิ่งเวลาผ่านไปนานๆ ยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงเป็นเงาตามตัว ดังนั้น ก่อนจะซื้อเครื่อง ควรเช็ควันวางจำหน่ายจากเว็บไซต์ต่างๆเพื่อวิเคราะห์อายุของสมาร์ทโฟน แนะนำ ไม่เกิน 1 ปีหรือสูงสุดคือ 2 ปี เพราะอายุเฉลี่ยของสมาร์ทโฟนที่จะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 2 ปี หลังจากนี้ไปเครื่องจะช้า OS เวอร์ชั่นเก่า และเสี่ยงต่ออาการเสื่อมของอุปกรณ์ภาพในทำให้ซื้อมาแล้วใช้งานได้ไม่เต็มที่นั่นเอง หรือเช็คจากสเปคอย่างอื่น เช่น เวอร์ชั่น OS , รุ่นของ CPU เหล่านี้สามารถบอกได้ว่าผลิตอยู่ช่วงเวลาไหน นานแล้วหรือยัง น่าเล่นอยู่หรือเปล่า

4.อาการเสียประจำรุ่น 


     สมาร์ทโฟนรู้กันอยู่ว่าผลิตที่ละมากๆ ถ้าเกิด QC ไม่ดีหรือการออกแบบไม่ดีพอ มักจะเกิดอาการเสียประจำรุ่นให้เราได้หวาดเสียวกันเป็นระยะ ตั้งแต่แบรนด์ไก่กายันอินเตอร์แบรนด์มีหมด!


ยกตัวอย่างเช่น

LG G3 ที่กรอบพลาสติกแตก
LG G4 จอเบิร์น บอร์ดไหม้
iPhone 5 ขอบจอเหลือง 
iPhone 4 จับสัญญาณไม่ดี
HTC M7 กล้องม่วง 

    อาการเหล่านี้ล้วนต้องรู้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ เพราะหากซื้อมาคุณอาจจะต้องเจอกันอาการเหล่านี้ หรืออาการเหล่านี้มีอยู่แล้วแต่คนขายไม่ได้บอกเพราะถือว่าเป็นอาการประจำรุ่น ถือเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่ตำหนิอะไร ซื้อไปนี่ซวยเลย เช็คกันนิดนึงเด้อ

5.ประวัติ/เครดิตคนขาย


    อันนี้สำคัญมากกกก คนขายนี่แหละที่คุณจะต้องมั่นใจจริงๆว่าเค้าขายจริง ไม่ใช่ 18 มงกุฎมาหลอกเอาตังเราไปฟรีๆ (เห็นอย่างงี้ผมเองก็โดนมาแล้วเหมือนกัน) ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษในกรณีที่โอนเงินก่อนของจะมา เช็คเครดิตกันเยอะๆหน่อย ถ้าอยู่ในกลุ่มซื้อขายใน Facebook หรือบอร์ด IT สามารถขอเครดิตผู้ขายได้ เพื่อความสะบายใจระดับหนึ่ง (เช็คคนให้เครดิตด้วยนะครับ อาจจะเป็นหน้าม้ามาหลอกก็เป็นได้) 

ทางที่ดีที่สุดหากจะให้โอนเงิน คือผ่านคนกลางหรือแอดมิน หรือที่ฮิตกันคือถ่ายรูปบัตรประชาชน พร้อมสมุดบัญชีคู่กับสินค้า ก็ช่วยให้มั่นใจได้ระดับนึงว่าคนขายคือคนๆนั้นจริงๆ ไม่ได้สวมรอบมา

ถ้าจะให้แนะนำจริงๆ คือนัดเจอแล้วเทสสินค้ากันตรงนั้นเลย เทสเสร็จจ่ายตังจบ สบายใจทั้งสองฝ่าย

    ในส่วนของประกันใจ ส่วนตัวคิดว่า ถ้าของมีประกันศูนย์เหลืออยู่ไม่จำเป็นเท่าไหร่นัก แต่ของหมดประกันแล้วควรจะมีสัก 7 - 14 วันกำลังดีเพราะของพวกนี้มีโอกาสเสียได้ง่าย ซื้อมาเล่นได้สองวันเจ๊งนี่ร้องเลยนะ

ส่งท้าย



     ก็คงประมาณนี้สำหรับวิธีการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนมือสอง นี่เป็นแค่วิธีการเบื้องต้นในการเลือกซื้อซึ่งจริงๆมีเยอะมาก อันนี้เอามาฝากแค่เป็นส่วนนึงในการประกอบการตัดสินใจซื้อ ดังคำที่ว่า "ตาดีได้ ตาร้ายเสีย" เราแค่อยากให้คุณตาดีมากกว่าตาร้ายนะ

ปล.คนเขียนเองก็โดนมาเย๊อะ น้ำตาจิไหล หลายตังอยู่เหมือนกัน เลยต้องระวังให้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่อยากให้คนอื่นโดนแบบเราเลยเขียนบทความนี้ขึ้นมาแหละจ้า

### ช่วยกดโฆษณาหน่อยจะขอบคุณมากๆจ้า เรามีรายได้เล็กๆน้อยๆจากตรงนี้แหละ ###